top of page

Stroke หรือโรคหลอดเลือดสมอง ยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งห่างไกลอัมพฤกษ์อัมพาต

อัปเดตเมื่อ 21 ก.ค. 2565

Stroke หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิตและทำให้เกิดผลต่อร่างกายโดยเฉพาะระบบประสาทและสมอง ผลที่ตามมาในคนไข้หลายเคสคือเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง ซึ่งทำให้ช่วยเหลือตนเองไม่ได้และเป็นภาระแก่ครอบครัว แต่หากเรารู้สาเหตุและวิธีฟื้นฟูผู้ป่วยเมื่อเกิดโรคนี้อย่างเท่าทัน ก็เท่ากับว่าผ่อนหนักเป็นเบาได้ ลดโอกาสเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง ให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ ช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด


ประเภทของหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

1. โรคสมองขาดเลือด หรือภาวะที่ไม่มีเลือดไม่เลี้ยงสมอง เกิดขึ้นประมาณ 80% ของคนไข้ทั้งหมด เกิดจากภาวะหลอดเลือดตีบ อุดตัน

2. โรคเลือดออกในสมอง เกิดจากการฉีกขาดของหลอดเลือดฝอยในสมอง หรือหลอดเลือดเกิดภาวะโป่งพองและฉีกขาด ซึ่งประเภทนี้มีโอกาสทำให้คนไข้เสียชีวิตค่อนข้างสูง


สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ โรคสมองขาดเลือด เกิดขึ้นประมาณ 90% เกิดจากภาวะหลอดเลือดตีบ อุดตัน และโรคเลือดออกในสมอง สามารถเกิดได้ทุกวัยตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป พบมากในวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุ มีสาเหตุจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องพันธุกรรม อายุที่มากขึ้นที่ทำให้หลอดเลือดเสื่อม การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้าทำให้เลือดหนืด หรือการใช้ยาบางประเภท เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด เป็นต้น ก่อให้เกิดภาวะผิดปกติของหลอดเลือด รวมไปถึงกลุ่มโรคประจำตัวเช่น ความดัน เบาหวาน โรคเลือด โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูงก็เป็นสาเหตุที่ผนังหลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น เกิดการอักเสบ มีลิ่มเลือดหลุดในกระแสเลือด ทำให้เกิดหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตกส่งผลให้เลือดไม่สามารถนำพาออกซิเจนส่งไปเลี้ยงสมอง จนเป็น Stroke สมองเกิดความเสียหายในที่สุด


เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นภาวะ Stroke เมื่อเกิด Stroke ต้องทำอย่างไร

Stroke หรือการที่เส้นเลือดในสมองเกิดความผิดปกติเป็นภาวะเฉียบพลัน มีวิธีสังเกตอาการได้ดังนี้

  • ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน

  • แขนขาอ่อนแรง เดินโซเซ

  • เกิดอาการชาครึ่งซีก หน้าเบี้ยว

  • ตาพร่ามัว

  • ออกเสียงไม่ชัด พูดลำบาก

  • กลืนอาหารหรือน้ำลำบาก

เมื่อเกิดอาการดังกล่าวต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันความเสียหายของสมองในวงกว้าง


วิธีการวินิจฉัยและการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

สามารถวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองด้วยการทำ CT SCAN เพื่อวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง สามารถตรวจเช็คบริเวณที่เกิดความผิดปกติและสามารถแยกโรคเลือดออกในสมองกับสมองขาดเลือดได้ หากพบว่าเป็นโรคสมองขาดเลือด แพทย์จะรักษาโดยการใช้ยาละลายลิ่มเลือดและยาต้านเกล็ดเลือด หรือพิจารณาผ่าตัดเปิดกะโหลกหากพบกว่าผู้ป่วยมีภาวะโรคสมองขาดเลือดเป็นบริเวณกว้าง หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคเลือดออกในสมอง ต้องดูแลผู้ป่วยโดยการควบคุมความดัน ในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากมีอาการ และอาจจะพิจารณาผ่าตัดหากเลือดออกในสมองมากหรือมีความดันภายในสมองสูง


วิธีป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

  1. ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่

  2. หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีหรือการดื่มแอลกอฮอล์

  3. ดูแลร่างกายไม่ให้เกิดโรคหรือหลีกเลี่ยงสาเหตุให้เกิดโรคเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ โรคไตที่ส่งผลต่อหลอดเลือด

  4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง

  5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

  6. ศึกษาการใช้ยาหรือวิตามินบางชนิด เพื่อควบคุมการรับประทานไม่ให้เกิดผลข้างเคียงต่อหลอดเลือด

  7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หาเวลาผ่อนคลายความเครียด

  8. หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ต้องไปตรวจสุขภาพโดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้น

  9. ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนจนเกินไป

วิธีฟื้นฟูคนไข้หลังจากเกิด Stroke

ต้องยอมรับว่าการเกิดโรคหลอดเลือดสมองหรือ Stroke เนื้อสมองส่วนที่ตายหรือเสียหายไม่สามารถฟื้นคืนให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ ผู้ป่วยหลายรายจึงพิการอย่างใดอย่างหนึ่งไปตลอดชีวิต แต่ก็มีวิธีบำบัดฟื้นฟูร่างกายเพื่อให้ลดความรุนแรงของภาวะพิการเหล่านั้นได้ หลังจากการส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับรักษาโดยแพทย์เพื่อช่วยชีวิตแล้ว ผู้ป่วยต้องได้รับการฟื้นฟูให้เร็วที่สุดและต้องฟื้นฟูอย่างถูกวิธีด้วยทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะ ใช้เวลานานเท่าไหร่ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดความเสียหายของสมองของคนไข้แต่ละราย และมีการบำบัดฟื้นฟูแตกต่างกันไปในแต่ละเคสขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยโดยแพทย์ โดยมีวิธีการฟื้นฟูดังต่อไปนี้

  1. การฝึกการเคลื่อนไหว การขยับข้อต่อต่างๆตั้งแต่พักอยู่บนเตียงแม้แต่ตอนผู้ป่วยยังไม่มีสติก็ตาม เพื่อลดการเกิดแผลกดทับ และข้อต่อติด

  2. การทำกายภาพเมื่อร่างกายพร้อม เพื่อฝึกการใช้งานของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และประสาท โดยอาจใช้อุปกรณ์ช่วย ได้แก่ หุ่นยนต์ฝึกเดิน เครื่องออกกำลังกาย การใช้น้ำหรือวารีบำบัด การใช้พาราฟินหรือวิธีการอื่นๆ

  3. การฝึกการกลืนอาหาร การพูด การออกเสียง

  4. การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าควบคุมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

  5. การใช้เลเซอร์เพื่อลดอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบ กระตุ้นการซ่อมแซมแผลในร่างกาย

ปัจจุบันมีศูนย์พักฟื้นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยครบวงจร ทั้งหุ่นยนต์และระบบคอมพิวเตอร์ที่พัฒนามาเพื่อฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะ พร้อมทีมนักกายภาพบำบัดที่เชี่ยวชาญ นักโภชนาการและพยาบาลมืออาชีพที่ได้รับการอบรมให้เข้าใจโรคของผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ซึ่งสถานที่ให้บริการเหล่านี้ควบคุมโดยแพทย์ที่ชำนาญด้านโรคหลอดเลือดสมอง เป็นทางเลือกสำหรับดูแลผู้ป่วยได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวตามอาการคนไข้แต่ละราย บางรายใช้เวลาหลายเดือนถึงหลายปีในการฟื้นฟู สิ่งสำคัญที่สุดที่ญาติต้องคำนึงถึงคือหากคนไข้ได้รับการดูแล ฟื้นฟูร่างกายอย่างถูกวิธี ก็จะทำให้ลดโอกาสการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่เป็นภาระของครอบครัว ดังนั้นควรเลือกศูนย์พักฟื้นที่เชี่ยวชาญและพร้อมบริการผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างแท้จริง


Century Care Center ยินดีให้คำปรึกษา

โทร : 095-713-2222

การเดินทาง : https://goo.gl/maps/hb2a7MTEPeEaDTpTA

Comments


bottom of page