top of page

การป้องกันแผลกดทับ

ติดเตียง ดูแลอย่างไร ห่างไกลแผลกดทับ

ปัญหาที่พบในผู้สูงอายุ ผู้ป่วย stroke ผู้ที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว หรือนอนติดเตียงที่ก่อให้เกิดปัญหามากเป็นอันดับต้นๆ คือ ปัญหาแผลกดทับ เกิดจากการที่ร่างกายและผิวที่บอบบางถูกกดทับเป็นเวลานานๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทำให้จุดที่ถูกกดทับ เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงเพียงพอจนเป็นรอยแดง เกิดเป็นแผล มีความอับชื้น หาก ไม่ได้รับการป้องกัน ดูแลตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก็จะส่งผลให้เกิดแผล และมีอาการเป็นแผลเรื้อรัง เสี่ยงต่อแผลติดเชื้อ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานที่จะมีอาการของแผลที่ลุกลามง่าย หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องความอ้วนมากๆ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี หรือผู้ป่วยที่มีความผอมมากๆ ทำให้ผิวหนังบริเวณปุ่มกระดูกกดทับผิวหนังจนเกิดแผลได้ และอีกสาเหตุที่พบมากก็คือ การลื่นไถลของผิวหนังจากการเคลื่อนย้ายร่างกายบนที่นอนของผู้ป่วย บาดแผลเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวด กระทบต่อจิตใจและมีความยุ่งยากในการดูแลรักษา การป้องกันจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เรามาลองดูวิธีการดูแลเพื่อช่วยกันดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุของเราอย่างเหมาะสมกันค่ะ


1. ให้เปลี่ยนท่านอนทุก 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะในรายที่ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยสามารถจัดท่าให้ตะแคง ซ้ายและขวา นอนหงาย นอนตะแคงกึ่งคว่ำ สลับกันไปตามความเหมาะสม ควรใช้หมอนหรือผ้านุ่มๆรองบริเวณที่กดทับ เพื่อป้องกันการเสียดสีและลดแรงกดทับ

รายละเอียดการจัดท่า

- ท่านั่ง การนั่งควรจัดให้นั่งหลังตรง พิงพนัก จัดให้เข่าอยู่ระดับเดียวกับสะโพก ไม่ไขว้ขา ไม่โน้มตัวไปด้านหน้า และไม่ควรอยู่ท่าเดิม

- ท่านอน จัดท่านอนตะแคงกึ่งหงาย เอียง 30 องศา ให้สะโพกเอียงทำมุ 30 องศากับที่นอน เพื่อหลีกเลี่ยงแรงกดโดยตรงกับปุ่มกระดูกบริเวณไหล่และสะโพก ใช้หมอน ผ้าหรือเบาะสอดคั่น ระหว่างเข่าและขา ทั้ง 2 ข้าง เพื่อป้องกันการเสียดสีและลดแรงกดทับระหว่างปุ่มกระดูก

- ท่านอนหงาย ใช้หมอนรองศีรษะ ไหล่ ใช้หมอนหรือผ้ารองใต้เข่าและน่องเพื่อยกส้นเท้าลอยจากพื้นผิวที่นอน ป้องกันการเกิดแผลกดทับที่ส้นเท้า

2. ดูแลผิวหนังผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุให้สะอาด แห้งไม่อับชื้น เพราะถ้าผิวหนังเปียกชื้นหรือร้อนจะทำให้เกิดแผลเปื่อย ผิวหนังถลอกง่าย ต้องทำความสะอาดแล้วซับให้แห้ง และหากสังเกตพบว่าผู้ป่วยมีผิวหนังแห้งแตก ควรทาโลชั่นหรือวาสลีนเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น

3. ผู้ที่คุมการขับถ่ายไม่ได้ ต้องหมั่นตรวจสอบแพมเพิส แผ่นรอง หลังขับถ่ายต้องเช็ดให้สะอาด และแห้งเสมอ

4. ที่นอนต้องสะอาด แห้ง ไม่เปียกชื้น ผ้าปูที่นอน ให้สะอาด แห้ง และเรียบตึงอยู่เสมอ ใช้ที่นอนที่มีการถ่ายเทอากาศที่ดี บางท่านอาจใช้ ที่นอนลม ที่นอนน้ำ ที่นอนฟองน้ำ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ที่นอนที่การระบายอากาศไม่ดี เช่น ที่นอนหุ้มพลาสติก

5. การเคลื่อนย้ายให้ระวังการเสียดสีหรืออุบัติเหตุต่อผิวหนัง โดยการใช้ผ้ารองเพื่อยกตัว หรือเคลื่อนย้าย

6. ดูแลให้ได้รับอาหารให้ได้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีน วิตามิน และน้ำอย่างเพียงพอ

7. ออกกำลังกายให้อย่างเหมาะสม เพื่อให้กล้ามเนื้อ หลอดเลือด ผิวหนังมีความแข็งแรง กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต และป้องกันการเกิดข้อยึดติดได้อีกด้วย


หวังว่าวิธีการดูแลและป้องกันการเกิดแผลกดทับเหล่านี้ จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยของเราต้องได้รับความเจ็บปวดจากการเกิดแผล อันตรายจากการติดเชื้อ หรือความยุ่งยากในการรักษาแผลกดทับ

การปฏิบัติอย่างถูกวิธีจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดและไม่เกิดค่าใช้จ่ายที่อาจตามมาจากการรักษาบาดแผลเรื้อรังได้


อขอบคุณข้อมูลดีๆจาก บทความคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิด


 

"คลินิกกายภาพเซ็นจูรี่แคร์ พร้อมดูแลด้วยจุดมุ่งหมายให้ผู้เข้ารับบริการกลับไปใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงปกติให้ได้มากที่สุด"

Century Care Center ยินดีให้คำปรึกษา


โทร : 095-713-2222

การเดินทาง : https://goo.gl/maps/hb2a7MTEPeEaDTpTA

Comments


bottom of page