top of page

ทำไมผู้สูงอายุ หลับกลางวัน ตื่นกลางคืน

ทำไมผู้สูงอายุ หลับกลางวัน ตื่นกลางคืน

ในครอบครัวทีมีผู้สูงอายุในบ้าน มักพบว่า ผู้สูงอายุมักจะตื่นช่วงกลางคืนแต่นอนหลับได้ดีในช่วงกลางวัน อาจพบบางคนหลับๆ ตื่นๆทุกชั่วโมง หรือบางคนไม่นอนหลายๆวัน แต่กลับหลับติดต่อกันข้ามวัน ข้ามคืน

วันที่ไม่นอนจะพบอาการหลงลืมมากขึ้น หงุดหงิด หรืออาจวุ่นวาย สับสน จนกระทบการดูแลของผู้ดูแลหรือสมาชิกในบ้านได้


ปัจจัยที่มีผลต่อการนอนหลับในเวลากลางคืน

· ฮอร์โมนที่ลดลงจนเกิดการเปลี่ยนแปลงของวงจรการนอน ทำให้นอนหลับยากขึ้น ตื่นกลางดึก บ่อย นอนหลับไม่สนิท ในวัยสูงอายุเพศหญิงและเพศชายมีประสิทธิภาพการนอนที่ต่างกัน พบว่าการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิงที่ลดลงนั้นทำให้ประสิทธิภาพการนอนของเพศหญิงน้อยกว่าเพศชาย

· อาการเจ็บป่วยทางด้านร่างกาย เช่น อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อในเวลากลางคืน อาการกระตุก บางท่านอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับกลางดึกบ่อย ๆ หรือในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานมักตื่นกลางดึกเพื่อเข้าห้องน้ำ เป็นต้น

· พฤติกรรมของผู้สูงอายุที่ส่งผลต่อการนอน เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การสูบบุหรี่ หรือการทานยาบางชนิด เป็นต้น

· การเข้านอนโดยที่ไม่ง่วง หรือเลยเวลาง่วงไปแล้วจึงเข้านอน

· การใช้เตียงผิดวัตถุประสงค์ เช่น นอนดูทีวี นอนอ่านหนังสือ จนมีการงีบหลับเป็นระยะ

· ด้านจิตใจ ความเครียด ความกังวล หรือภาวะซึมเศร้า การสูญเสียสิ่งที่เป็นที่รัก หรือสูญเสียบทบาททางสังคม ส่งผลต่อการทำงานของสารในร่างกาย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คุณภาพการนอนลดลง

· ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น แสง เสียง อุณหภูมิ เครื่องนอนสมาชิกในบ้านโดยเฉพาะบ้านที่มีหลาน ๆ วัยทารก อีกทั้งยังรวมถึงสัตว์เลี้ยงที่อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่รบกวนการนอนได้

ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ มีผลกระทบต่อการนอนของผู้สูงอายุ โดยอาจพบปัญหาการนอนไม่หลับ การหลับไม่สนิท นอนหลับยาก หลับๆตื่นๆ ซึ่งจะทำให้การนอนไม่มีประสิทธิภาพ การนอนที่ไม่เพียงพอและส่งผลให้ง่วงนอนในเวลากลางวัน ขยับเวลาการนอนจนเปลี่ยนวงจรการนอนไป บางรายอาจมีผลกระทบมากจนพบการนอนหลับยาวนานเกินไป และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในที่สุด


ข้อแนะนำการส่งเสริมประสิทธิภาพการนอน

1. การค้นหาและรักษาโรคทางกาย เช่น การปัสสาวะบ่อย อาการปวดตามร่างกาย การนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

2. การฝึกเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา

3. การปรับพฤติกรรม เช่น การลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การงดบุหรี่ การควบคุมไม่ให้หิวหรืออิ่มมากจนเกินไปทำให้นอนไม่สบาย

4. การจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับการนอน เช่น ลดแสง ลดเสียง ปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม

5. การจัดตารางกิจกรรมในเวลากลางวันที่เหมาะสม เช่น การร่วมกิจกรรมสันธนาการ การผ่อนคลายจิตใจ การเข้าสังคม รวมถึงการงีบระหว่างวันเป็นเวลาสั้นๆ ประมาณ 30-60 นาที

6.ใช้เตียงเพื่อการนอนเท่านั้น ไม่ดูทีวี ไม่อ่านหนังสือบนเตียง รวมถึงความมีการเตรียมความพร้อมก่อนนอน เช่น การนั่งสมาธิ การเข้าห้องน้ำก่อนเข้านอน

7.การใช้ยา หากการแก้ไขด้วยวิธีต่างๆไม่ได้ผล การใช้ยาควรเป็นทางเลือกสุดท้ายเนื่องจากระบบการเผาผลาญและทำลายยาในผู้สุงอายุจะทำงานลดลง อาจทำให้ฤทธิ์ของยาตกค้างอยู่นานกว่าปกติหรือเกิดความเคยชินจนต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นเรื่อยๆ การใช้ยาจึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีการนอนที่มีประสิทธิภาพ จะส่งผลดีต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก การพักผ่อนที่เพียงพอ ไม่มาก ไม่น้อยจนเกินไปประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อคืน หรือการงีบหลับเวลาสั้นๆระหว่างวัน จะส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพการนอนและคุณภาพชีวิตที่ดี มีความพร้อมในการทำกิจกรรมต่างๆระหว่างวันได้เป็นอย่างดี


ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาลัยมหิดล


 

"คลินิกกายภาพเซ็นจูรี่แคร์ พร้อมดูแลด้วยจุดมุ่งหมายให้ผู้เข้ารับบริการกลับไปใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงปกติให้ได้มากที่สุด"

Century Care Center ยินดีให้คำปรึกษา

โทร : 095-713-2222


การเดินทาง : https://goo.gl/maps/hb2a7MTEPeEaDTpTA

Comentários


bottom of page